วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Digital art

การสร้างสรรค์งาน Digital Art
ดิจิทัลมีเดียนี้เป็นการสร้างสรรค์บนพื้นฐานหลักการของศิลปะ การออกแบบ และการรับรู้ทางสายตา โดยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องขององค์ประกอบศิลปะ การสร้างความเป็นเอกภาพ ความกลมกลืน สมดุลย์ การซ้ำและจังหวะ การเน้น และการสร้างจุดสนใจ มุมมองทัศนียภาพ และหลักการทางทฤษฎีพื้นและภาพ ทฤษฎีการรับรู้
การผลิตสื่อดิจิทัลและขั้นตอนการสร้างสรรค์นั้น คอมพิวเตอร์ โปรแกรมที่นำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง วิดีโอ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ดึงศักยภาพของตนเองในด้านความคิดสร้างสรรค์ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม แต่อย่างไรก็ตาม โปรแกรมที่ใช้นั้นเป็นเพียงเครื่องมือที่ทุกประเทศทั่วโลกใช้เหมือนกัน จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถในการนำเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้เพื่อสร้างผลงานที่แตกต่าง



โปรแกรมในการสร้างสรรค์งานดิจิทัลอาร์ตมีให้เลือกที่หลากหลายมาก ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับผู้ใช้ที่อาจจะพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการทำงาน และเงินทุนในด้านราคาของโปรแกรม สามารถแบ่งแยกประเภทได้ดังนี้

Media Topic Application Programs
Digital Image Adobe Photoshop, Adobe Illustrator,.....
Digital Audio Adobe Audition, Apple Garage Band,....
Digital Video Adobe Premier Pro, Apple Final Cut Pro, After Effect


ดิจิทัลอาร์ต คืออะไร

ในปัจจุบัน เราเคยได้ยินคำว่า “ดิจิทัล” กันอย่างแพร่หลายทั่วไปที่สร้างความเข้าใจให้กับระบบที่แตกต่างจากอดีต โดยใช้ตัวเลขเป็นตัวสื่อสารข้อมูลที่มนุษย์ได้พัฒนาสู่การนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ส่วนคำว่า “อาร์ต” หรือ “ศิลปะ” คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น มีคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ ที่ใช้สื่อในการแสดงออกได้หลากหลายเทคนิค อย่างไรก็ตาม สามารถกล่าวได้ว่าดิจิทัลอาร์ต คือ สื่อศิลปะที่มีปฏิสัมพันธ์ เข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง โยกย้ายถ่ายเทถึงกันได้ และ เปลี่ยนแปลงได้ง่าย

สื่อศิลปะที่มีปฏิสัมพันธ์
การมีปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นได้จากผู้ดูผลงานศิลปะ กับตัวงานศิลปะ ที่ผู้สร้างผลงานต้องการจะสื่อสารให้กับผู้ดู เช่น ผลงานจิตรกรรมหรือประติมากรรมสามารถทำให้เกิดอารมณ์สุนทรียะ ความรู้สึกกับผู้ดูตามที่ศิลปินต้องการสื่อสาร เกิดความสะเทือนใจ สะกิดใจ หรือเกิดคำถามต่อผู้ดูได้ เพราะตัวผลงานที่มีความแตกต่างกัน อาจจะกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้ต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในการสร้างสรรค์สื่อศิลปะแบบประเพณีนั้นไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวมันเองได้ระหว่างที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูงานกับตัวผลงาน
แต่สำหรับดิจิทัลอาร์ต ปฏิสัมพันธ์มีความหมายเป็นอย่างมากในการสื่อความหมาย มันสามารถสื่อสารโดยตรงไปยังผู้ชมได้ ที่มีการเปลียนแปลงในด้านการสื่อสารทางศิลปะ อย่างตลอดเวลาในขณะที่คลิกเมาส์ สัมผัสอิเล็กทรอนิกส์เซนเซอร์ หรือการเคลื่อนไหวร่างกาย

การเข้าถึงได้อย่างกว้างขวาง
ผลงานดิจิทัลอาร์ตประเภทการจัดวางที่เฉพาะ (site-specific installations) หรืองานดิจิทัลมีเดียเกือบทุกประเภทสามารถปรับเปลี่ยนใหม่ได้ทุกเมื่อ และผู้ชมสามารถดูได้ในพื้นที่ที่ไม่จำกัด มีขนาดใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากผลงานศิลปะแบบประเพณี หรืองานศิลปะในเว็ปไซต์ที่เผยแพร่ ผู้ชมสามารถเข้าถึงได้เป็นจำนวนมาก

การโยกย้ายถ่ายเทถึงกันได้
เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถสร้างงานได้อิสระที่ถ่ายทอดจินตนาการของศิลปินให้เป็นไปได้จริง สามารถผสมผสานระหว่างภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง ให้รวมกันเป็นผลงานชิ้นเดียวได้ โดยใช้การวางลำดับชั้นของภาพ (layering) ลักษณะโปร่งแสงของภาพ (transparency) การรวมกันของภาพ (blending) จนสามารถสร้างสรรค์องค์ประกอบใหม่ขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม การสร้างสรรค์ดิจิทัลอาร์ตสามารถทำงานให้สื่อเหมือนกับการสร้างสรรค์แบบประเพณีได้เช่นเดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงได้ง่ายของดิจิทัลอาร์ต
การเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลอาร์ต มีความแตกต่างจากศิลปะแบบประเพณี กล่าวคือ ศิลปะแบบประเพณีนั้นมีคุณค่า และมีผลกระทบต่อสังคมมากกว่าผลงานที่สร้างสรรค์จาก ดิจิทัลอาร์ต อาจจะเป็นเพราะผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นมีมากทั่วโลก ดังนั้นผลงานที่มีมาใหม่จะมาแทนที่ผลงานที่มีอยู่แล้วทุกวันไม่จำกัด ผลงานจึงอายุที่สั้นในการจดจำของผู้ชม


1.1 ดิจิทัลอาร์ต วิิจิตรศิลป์ และ ออกแบบ

วิจิตรศิลป์ (Fine Art) หรือ ทัศนศิลป์ (Visual Art) เป็นมีหลายประเภท เช่น จิตรกรรม วาดเส้น ภาพพิมพ์ ประติมากรรม และ การแสดงสดทางศิลปะ ไม่รวมถึง ดนตรี เต้น วรรณกรรม
กราฟิกดีไซน์ ในปัจจุบันใช้ระบบดิจิทัลในการออกแบบ หรือคอมพิวเตอร์ในการออกแบบ เช่น การออกแบบ 3 มิติ เป็นกระบวนการที่รวมกันระหว่าง ศิลปะ เทคโนโลยี ในการสื่อสารความคิดของผู้สร้างงาน ที่นักออกแบบโดยส่วนใหญ่จะใช้สื่อที่หลากหลาย เช่น การวาด ระบายสี ภาพถ่าย เทนนิคพิเศษในการสร้างสรรค์ภาพ รวมทั้งการสร้างสรรค์ตัวอักษรเพื่อใช้ในงานทีวี ภาพยนตร์ หนังสือ นิตยสาร เมนู ภาพประกอบ บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยการทำงานวิจิตรศิลป์ กับ การออกแบบนั้นมีความแตกต่างในด้านการสื่อสาร วัตถุประสงค์ แต่ในการสร้างสรรค์ดิจิทัลอาร์ตนั้น จะต้องมีทัั้งวิจิตรศิลป์และการออกแบบที่รวมกัน

1.2 ทำไมต้องเรียนดิจิทัลอาร์ต อะไร ทำไม และอย่างไร
การสร้างสรรค์งานดิจิทัลอาร์ตด้วยคอมพิวเตอร์ อาจจะไม่ได้ใช้ดินสอ หรือพู่กันในการวาดภาพ ผู้ใช้อาจจะเขียนเส้นโค้ง หรือวงกลมไม่สวย และไม่ต้องกังวลเพราะเครื่องมือในโปรแกรมสามารถช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้นรวดเร็ว แก้ไขได้ไม่จำกัด แต่ดิจิทัลอาร์ตก็ไม่สามารถที่จะแยกเรื่องของพื้นฐานทางศิลปะ ความรู้เรื่องของสุนทรียภาพ รวมถึงหลักการออกแบบด้วย เพราะมีความสำคัญทั้งสองด้าน ความเข้าใจทางด้านหลักการสร้างสรรค์งานศิลปะเป็นอย่างดี และทักษะทางศิลปะจะช่วยให้การทำงาน สร้างสรรค์ดิจิทัลอาร์ตเป็นไปได้ด้วยดี ความเข้าใจเรื่องแนวคิดของเครื่องมือและการรับรู้ของมนุษย์จะช่วยให้การสร้างสรรค์สามารถมีผลกระทบต่อผู้รับได้ดี

1.2.1 ความเข้าใจผิดในการเรียนดิจิทัลอาร์ต
สิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดในการคิดจะเรียนดิจิทัลอาร์ต มีสองประการ คือ ความรู้เรื่องของศิลปะ และเครื่องมือในการสร้างสรรค์งานดิจิทัล ซึ่งถ้าเข้าใจสองสิ่งนี้จะช่วยให้การทำงานผิดพลาดน้อยลง
1. การละเลยองค์ประกอบทางศิลปะ หมายถึง การทำงานที่มุ่งใช้ตัวคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือในโปรแกรมโดยไม่ใช้หลักการสร้างสรรค์ศิลปะ จะทำให้ผลงานที่ออกมานั้นขาดซึ่งสุนทรียภาพ อารมณ์ และเนื้อหาสาระ
2. ไม่มีแนวความคิดในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หมายถึง ความคิดที่ว่าคอมพิวเตอร์สามารถทำให้การทำงานง่ายขึ้นกว่าการสร้างงานแบบประเพณี แต่ในความจริงแล้ว เครื่องมือในดิจิทัลก็ไม่สามารถที่จะเห็นแล้วรู้ได้ด้วยตนเองว่า ทำงานอย่างไร เปรียบเหมือนกับการสร้างงานแบบประเพณีที่เมื่อเห็นดินสอ พู่กัน ก็สามารถรู้ได้เลยว่าจะสร้างสรรค์ได้อย่างไร จึงต้องมีพื้นฐานทักษะทางคอมพิวเตอร์จึงจะพัฒนาต่อไปได้

1.3 ส่วนประกอบของศิลปะ
ส่วนประกอบของศิลปะโดยพื้นฐานนั้นประกอบด้วย จุด เส้น ระนาบ รูปร่าง รูปทรง สี พื้นผิว และที่ว่าง ที่มีความสำคัญในการนำมาใช้สร้างสรรค์งานดิจิทัลอาร์ต เพราะอย่างไรก็ตามผู้สร้างสรรค์ยังคงต้องใช้หลักการเช่นเดียวกับการสร้างสรรค์งานแบบประเพณี โดยอาศัยหลักองค์ประกอบศิลป์ที่เป็นโครงสร้างของงานในการจัดส่วนประกอบต่างๆให้สมบูรณ์ลงตัว เช่น ความขัดแย้งและความกลมกลืน ความสมดุลย์ การซ้ำ และจังหวะ การเน้นและการสร้างจุดสนใจ และมุมมองทัศนียภาพ

1.4 การวิจารณ์งานดิจิทัลอาร์ต
การวิจารณ์ผลงานดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกิดประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งมีหลักการไม่แตกต่างจากการวิจารณ์ผลงานศิลปะในศาสตร์อื่นๆ เช่น สุนทรียภาพ การรับรู้ การมองเห็น เป็นต้น สามารถตั้งคำถามได้ดังนี้
1. อธิบายว่าสิ่งที่เห็นคืออะไร หรือได้ยินอะไร ขั้นแรกของการวิจารณ์ในการอธิบายภาพ เสียง โดยไม่ควรจะข้ามขั้นตอนหรือรายละเอียดต่างๆ โดยทุกคนควรมีส่วนร่วม
2. อธิบายถึงหลักการพื้นฐาน ส่วนประกอบของศิลปะและการออกแบบ ขั้นตอนนี้เป็นการอ้างอิงถึงส่วนประกอบ องค์ประกอบของศิลปะในการแสดงความเห็นอาจจะไม่สิ้นสุด แต่ทั้งหมดอาจจะต้องสรุป และตั้งต้นตัวอย่างขึ้นมาเปรียบเทียบเพื่อไปสู่การขยายที่ละเอียดมากขึ้น
3. อภิปรายแสดงข้อคิดเห็นในสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นขั้นตอนที่แสดงความเห็นบนพื้นฐานของการมองเห็นสิ่งใดบ้าง คิดอย่างไรกับผลงาน งานนั้นหมายความว่าอะไร คุณคิดว่างานนั้นต้องการสื่อสารอะไรกับเรา ทุกคนเห็นด้วยหรือไม่ และจดบันทึกข้อคิดเห็นไว้จนการแสดงความเห็นจบลง โดยที่ไม่มีใครมีอิทธิพลทางความคิดเหนือใคร
4. แสดงความคิดเห็นในเรื่องของการจัดการด้านเทคนิค คือ การมองว่างานชิ้นนั้นทำอย่างไร ใช้เครื่องมืออะไร สามารถทำได้หรือไม่ เพื่อนำมาพิจารณาในการทำงาน
5. ผู้สร้างสรรค์โต้ตอบการวิจารณ์ ในขั้นตอนสุดท้ายของการวิจารณ์ ผู้สร้างสรรค์งานสามารถแสดงความเห็นโต้ตอบได้ คุยถึงปัญหา ข้อเท็จจริง แนวคิด โดยการแสดงความเห็นนั้นควรจะเป็นการแสดงความเห็นแบบทำให้งานนั้นๆ ก้าวต่อไปได้ ซึ่งเมื่อการวิจารณ์สิ้นสุดลงจะเกิดแนวคิดใหม่ๆ สำหรับงานชิ้นนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น